โรคผมร่วงเป็นหย่อม ถึงแม้จะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร้ายแรง แต่ก็กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพและความมั่นใจในระยะยาว แต่ถ้าเราเข้าใจสาเหตุของโรคและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยให้รับมือกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมช่วยฟื้นฟูเส้นผมให้กลับมายาวสวย สร้างความมั่นใจใหม่อีกครั้ง
โรคผมร่วงเป็นหย่อม คืออะไร ?
โรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือที่เรียกว่า Alopecia Areata คือภาวะที่เส้นผมร่วงเป็นกระจุกบนหนังศีรษะ บางรายอาจเกิดในบริเวณอื่นของร่างกาย เช่น คิ้ว หนวด หรือขนตามร่างกาย ภาวะนี้เกิดขึ้นได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยไม่จำกัดอายุ ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้
- ผมหลุดร่วงเป็นวงกลม มีขอบชัดเจน
- หนังศีรษะบริเวณที่เป็นจะไม่เปลี่ยนสี ไม่มีอาการคัน อักเสบ หรือเป็นขุย
- เส้นผมที่หลุดร่วงจะมีปลายหนา แต่โคนผมลีบเล็กคล้ายเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!)
สาเหตุของโรคผมร่วมเป็นหย่อม
โรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ (Autoimmune Disease) ทำให้เกิดการต่อต้านเซลล์บริเวณรากผม จนผมหลุดร่วง ซึ่งมีปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้น ดังนี้
พันธุกรรม
หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมมาก่อน ก็จะมีโอกาสสูงที่คุณจะเกิดภาวะนี้ เนื่องจากเป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดในครอบครัว
ความเครียด
ความเครียด สามารถเกิดได้ทั้งการเจ็บป่วยเรื้อรังและการพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงภาวะเครียดสะสม เช่น ความกดดันในชีวิตประจำวัน ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะผมหลุดร่วงเป็นหย่อมได้
โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านเซลล์ตนเอง
ผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านเซลล์ตนเอง เช่น โรคไทรอยด์ โรคด่างขาว เป็นต้น มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการผมร่วงเป็นกระจุกได้
รับประทานยาบางชนิด
การกินยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด หรือยาที่มีผลกระทบต่อฮอร์โมน อาจส่งผลข้างเคียงที่ทำให้ผมหลุดร่วงเป็นหย่อมได้เช่นกัน
ขาดสารอาหาร
การได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก สังกะสี หรือไบโอติน มีส่วนทำให้รากผมอ่อนแอและเส้นผมหลุดร่วงได้ง่าย
แนวทางการรักษาอาการผมร่วงเป็นหย่อม
การใช้ยาเป็นวิธีการรักษาที่แพทย์มักแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาผมหลุดร่วงเป็นหย่อม โดยเฉพาะเกิดจากภาวะระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ซึ่งยาแต่ละชนิดมีลักษณะการใช้งานและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)
ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นยาที่ใช้เพื่อยับยั้งการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ฉีดยาในบริเวณที่มีปัญหาทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ ซึ่งการใช้ยานี้จะช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไมนอกซิดิล 5% (Topical Minoxidil 5% Solution)
ไมนอกซิดิล 5% เป็นยาทาเฉพาะที่ซึ่งได้รับความนิยมในการรักษาผมหลุดร่วง โดยตัวยาจะไปกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตในบริเวณหนังศีรษะ ทำให้รากผมได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ส่งผลให้เส้นผมงอกใหม่ได้ดีขึ้น โดยแพทย์จะแนะนำให้ทายา 2 ครั้งต่อวัน เช้าและก่อนนอนหลังจากการสระผม
อิมมูโนเฉพาะที่ (Topical immunotherapy)
ยาอิมมูโนเฉพาะที่ อาจทำให้เกิดอาการผื่นแพ้ที่หนังศีรษะ และทำให้มีอาการระคายเคืองบริเวณรอยโรค โดยแพทย์จะแนะนำให้ทาสัปดาห์ละครั้ง แล้วค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จนฤทธิ์ของยาไปกระตุ้นให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเฉพาะอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากต้องมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด
การปลูกผมแบบ Micrograft
การปลูกผมแบบ Micrograft จะใช้เครื่องมือพิเศษที่มีความละเอียดสูง เพื่อย้ายรากผมจากบริเวณที่แข็งแรงไปยังบริเวณที่ผมร่วงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยรากผมจะถูกแยกออกมาเป็นกราฟต์ขนาดเล็ก (Micrografts) และปลูกกลับลงไปอย่างละเอียดในพื้นที่ที่กำหนด เพื่อให้ได้แนวผมที่ดูเป็นธรรมชาติ
ภาวะโรคผมร่วงเป็นหย่อมอาจทำให้เกิดความกังวลในเรื่องของบุคลิกภาพ แต่อย่างที่บอกไปว่า หากเลือกใช้วิธีการรักษาที่เหมาะสม จะสามารถช่วยฟื้นฟูเส้นผมและความมั่นใจให้กลับคืนมาได้
สำหรับผู้ที่สนใจปลูกผมเพื่อแก้ปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม ที่ Max Hair Clinic ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากมาย ทั้งยังมีรีวิวการปลูกผมจากดารานักแสดงชั้นนำของประเทศไทย พร้อมเป็นตัวช่วยให้คุณมีความมั่นใจ ด้วยเทคโนโลยีการปลูกผมที่ทันสมัย และทีมแพทย์เฉพาะทางที่พร้อมให้คำปรึกษาและดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอดจนสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ประเมินการรักษาเบื้องต้นให้ฟรี สอบถามข้อมูลได้ที่ 083-289-1664 หรือ LINE: @MAXHAIR
ข้อมูลอ้างอิง
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/HpH/admin/download_files/146_49_1ni5th7.pdf
- ความหมาย โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata). สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 จาก https://www.pobpad.com/alopecia-areata-โรคผมร่วงเป็นหย่อม
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/hph/admin/news_files/560_49_1.pdf